จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นจังหวัดที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้และใหญ่เป็นอันดับ 6 ของประเทศ มีประชากรประมาณ 1 ล้านคน มากเป็นอันดับที่ 20 ของประเทศ แต่มีความหนาแน่นของประชากรเป็นอันดับท้าย ๆ ของประเทศ เพราะว่าพื้นที่จำนวนมากของจังหวัดโดยเฉพาะด้านทิศตะวันตกนั้นเป็นเขตป่าอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีทั้งอุทยานแห่งชาติแก่งกรุง อุทยานแห่งชาติคลองพนมและอุทยานแห่งชาติเขาสก รวมทั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสงและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองยัน
สุราษฎร์ธานีเรียกสั้น ๆ ติดปากว่า “สุราษฎร์ฯ” มีชื่อย่อจังหวัดในทางราชการว่า “สฎ” และ “SNI” ในภาษาอังกฤษ นับว่าเป็นเมืองหลวงหรือฮับ “Hub” ของภาคใต้ตอนบนเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นจังหวัดที่เป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางไปยังจังหวัดอื่น ๆ เช่น นครศรีธรรมราช กระบี่ พังงา ภูเก็ต ระนอง ชุมพร รวมทั้งจังหวัดภาคใต้ตอนล่างอื่น ๆ
ที่นี่เป็นเมืองเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์และโบราณคดีเก่าแก่มายาวนาน นอกจากนี้แล้วยังเป็นจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลายมาก ทั้งทางทะเล แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติประเภทอุทยานแห่งชาติ และสถานที่ท่องเที่ยวเชิงศาสนาอีกหลายแห่ง สมกับคำขวัญประจำจังหวัดที่ว่า “เมืองร้อยเกาะ เงาะอร่อย หอยใหญ่ ไข่แดง แหล่งธรรมะ” เรียกได้ว่าถ้ามาเที่ยวสุราษฎร์ธานีวันเดียวนั้นอาจจะเที่ยวได้ไม่ทั่วถึง
ประวัติจังหวัดสุราษฎร์ธานี
สุราษฎร์ธานีในประวัติศาสตร์สมัยโบราณ
สุราษฎร์ธานี ในสมัยโบราณนั้นเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรศรีวิชัย โดยมีหลักฐานที่แสดงถึงการตั้งรกรากและยืนยันความรุ่งเรืองในอดีตช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 อย่างชัดเจนในพื้นที่อำเภอไชยา และภายหลังเมื่ออาณาจักรตามพรลิงก์ (หรือเมืองนครศรีธรรมราช) มีความรุ่งเรืองมากขึ้นนั้น ที่นี่ก็เลยเป็นหนึ่งในเมืองสิบสองนักษัตรของเมืองนครศรีธรรมราช รวมไปถึงเมืองอื่น ๆ ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีในปัจจุบัน ซึ่งเจริญรุ่งเรืองมาในยุคเดียวกันกับเมืองไชยา อันได้แก่ เมืองท่าทอง (อำเภอกาญจนดิษฐ์ในปัจจุบัน) เมืองคีรีรัฐนิคม และเมืองเวียงสระ ก็ได้กลายเป็นเมืองสิบสองนักษัตรของเมืองนครศรีธรรมราชเช่นเดียวกัน
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายที่ตั้งเมืองท่าทองมายังอ่าวบ้านดอน พร้อมทั้งยกฐานะให้เป็นเมืองจัตวา ขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร และพระราชทานชื่อใหม่ว่า “เมืองกาญจนดิษฐ์” โดยแต่งตั้งให้พระยากาญจนดิษฐ์บดีเป็นเจ้าเมืองดูแลการปกครอง
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าฯ ให้เมืองกาญจนดิษฐ์ เมืองคีรีรัฐนิคมและเมืองไชยา รวมกันเป็นจังหวัดไชยา ขึ้นตรงต่อมณฑลชุมพร เมื่อเมืองขยายใหญ่ขึ้นและมีการปรับเปลี่ยนการปกครอง จึงมีการแยกเมืองกาญจนดิษฐ์ออกเป็นอำเภอกาญจนดิษฐ์และอำเภอบ้านดอน จนกระทั่งสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีการย้ายอำเภอเมืองมาที่อำเภอบ้านดอนและโอนชื่อมาเป็นชื่ออำเภอไชยา และให้เมืองเก่าไชยาใช้ชื่อว่า “อำเภอพุมเรียง” แต่ทว่าประชาชนยังติดเรียกชื่อเมืองเก่าว่า “อำเภอไชยา”
ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ไม่ทรงโปรดปรานชื่อบ้านดอนเท่าไหร่นัก จึงพระราชทานนามอำเภอบ้านดอนว่า “สุราษฎร์ธานี” และให้อำเภอพุมเรียงกลับไปใช้ชื่อเดิมว่าอำเภอไชยา รวมถึงเปลี่ยนชื่อจังหวัดเป็น “จังหวัดสุราษฎร์ธานี” และพระราชทานนามชื่อแม่น้ำที่ไหลผ่านตัวจังหวัดลงทะเลอ่าวไทยว่า “แม่น้ำตาปี” ซึ่งเป็นการตั้งชื่อตามแบบเมืองและแม่น้ำในรัฐคุชราต ประเทศอินเดีย ที่มีแม่น้ำ “ทัปตี” ไหลลงสู่ทะเลออกผ่านปากอ่าวที่ “เมืองสุรัต”
ที่ตั้ง อาณาเขต ภูมิประเทศและภูมิอากาศ
จังหวัดสุราษฎร์ธานีตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของภาคใต้ มีพื้นที่กว้างใหญ่และมีสภาพภูมิประเทศที่หลากหลาย พื้นที่เกือบครึ่งหนึ่งของจังหวัดโดยเฉพาะทางด้านทิศตะวันตกนั้นมี “เทือกเขาภูเก็ต” สูงทอดตัวในแนวเหนือ-ใต้ของพื้นที่จังหวัด และเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัด คือคลองสกและคลองพุมดวง ที่ไหลไปรวมกับแม่น้ำตาปีจากต้นน้ำเขาหลวง นครศรีธรรมราช ลงสู่อ่าวไทย พื้นที่ฝั่งตะวันตกของจังหวัดมีอาณาเขตติดกับจังหวัดพังงาและระนอง ลักษณะอากาศทางด้านทิศตะวันตกนี้ จึงมักจะได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จากมหาสมุทรอินเดียมากกว่าฝั่งอ่าวไทย ทำให้มีฝนตกชุกใกล้เคียงกับจังหวัดระนองและพังงา
ทางด้านตะวันออกของจังหวัดติดกับอ่าวไทยและจังหวัดนครศรีธรรมราช มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่กว่าทางด้านตะวันตก มีชายหาดติดทะเลยาวประมาณ 156 กิโลเมตร โดยมีเกาะที่อยู่ภายใต้เขตการปกครองของจังหวัด ได้แก่ เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า และหมู่เกาะอ่างทอง และยังมีเกาะน้อยใหญ่อีกมากมาย จึงได้ชื่อว่า “เมืองร้อยเกาะ” เช่น เกาะนางยวน เกาะวัวตาหลับ เกาะแม่เกาะ อาณาเขตทิศเหนือของจังหวัดติดกับประตูสู่ภาคใต้คือจังหวัดชุมพร ส่วนทิศใต้มีพื้นที่ติดกับจังหวัดกระบี่ พังงาและนครศรีธรรมราช
เนื่องจากทำเลที่ตั้งรวมถึงภูมิประเทศของจังหวัดสุราษฎร์ธานี จึงทำให้ได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดมาจากมหาสมุทรอินเดีย รวมทั้งมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดผ่านอ่าวไทย ทำให้มีช่วงฤดูฝนยาวนานมาก โดยกินระยะเวลาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนมกราคม โดยจังหวัดสุราษฏร์ธานีมีอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 21.16 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 34.51 องศาเซลเซียส และปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 129.59 มิลลิเมตร
จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีกี่อำเภอ?
จังหวัดสุราษฎร์ธานีแบ่งการปกครองตามรูปแบบการปกครองส่วนภูมิภาคออกเป็น 19 อำเภอ 131 ตำบล และ 1,074 หมู่บ้าน มีรายชื่ออำเภอดังนี้
- อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี
- อำเภอกาญจนดิษฐ์
- อำเภอดอนสัก
- อำเภอเกาะสมุย
- อำเภอเกาะพะงัน
- อำเภอไชยา
- อำเภอท่าชนะ
- อำเภอคีรีรัฐนิคม
- อำเภอบ้านตาขุน
- อำเภอพนม
- อำเภอท่าฉาง
- อำเภอบ้านนาสาร
- อำเภอบ้านนาเดิม
- อำเภอเคียนซา
- อำเภอเวียงสระ
- อำเภอพระแสง
- อำเภอพุนพิน
- อำเภอชัยบุรี
- อำเภอวิภาวดี
ประเพณีและวัฒนธรรมสำคัญ
งานประเพณีชักพระ
ประเพณีชักพระ ทอดผ้าป่าและแข่งขันเรือยาว ของจังหวัดสุราษฏร์ธานี หรือที่คนท้องถิ่นเรียกว่า “งานเดือนสิบเอ็ด” ประเพณีชักพระเป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวภาคใต้ ซึ่งเป็นประเพณีทำบุญในวันออกพรรษา ซึ่งตรงกับ วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ซึ่งเชื่อกันว่าเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อโปรดพระมารดา เมื่อครบพรรษาจึงเสด็จมายังโลกมนุษย์ พุทธศาสนิกชนจึงมารอรับเสด็จ แล้วอัญเชิญพระพุทธเจ้าขึ้นประทับบนบุษบกแล้วแห่ไปรอบเมือง
กิจกรรมที่สำคัญได้แก่การประกวดเรือพระ จะมีทั้งรถพนมพระและเรือพนมพระ ซึ่งตกแต่งประดับประดาด้วยการแกะสลัก หรือฉลุไม้ ตกแต่งจำลอง เสมือนฉากที่พระพุทธเจ้ากลับมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึง ในงานพิธีจะใช้คนลาก โดยเชื่อว่าผู้ที่ได้ร่วมลากจูงรถหรือเรือพนมพระจะได้อานิสสงค์หลายประการ การจัดพุ่มผ้าป่าเป็นการจำลองพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าแสดงออกเป็นตอน ๆ ด้วยการนำต้นไม้หรือกิ่งไม้ประดับกับหลอดไฟสีต่าง ๆ มีทั้งการเขียนภาพ ปั้นรูปดินเหนียว อุปกรณ์ประกอบฉากมักจะตกแต่งด้วยเครื่องอัฐบริขารและไม่นิยมนำสิ่งมีชีวิตเช่นปลาสวยงาม เต่าหรือสัตว์เลี้ยงใด ๆ มาจัดประกอบฉาก เพราะเชื่อว่าเป็นการทรมานสัตว์และจะไม่ได้รับอานิสสงค์
นอกจากนี้ยังมีการจัดการประกวดพุ่มผ้าป่า มีทั้งหน่วยงานในจังหวัดทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมกิจกรรม โดยงานประเพณีนี้จัดขึ้นบริเวณริมเขื่อนลำนำตาปี ตั้งแต่บริเวณศาลหลักเมืองจนกระทั่งถึงโรงแรมวังใต้ โดยขึ้นอยู่กับทางจังหวัดว่าในแต่ละปีจะเลือกเอาบริเวณใด ทั้งนี้ประเพณีชักพระ ทอดผ้าป่าและแข่งขันเรือยาวของจังหวัดสุราษฎร์ธานีจัดได้ว่าเป็นงานใหญ่งานหนึ่งของภาคใต้เลยทีเดียว
ประเพณีทำบุญเดือนสิบ หรือ งานสารทเดือนสิบ
ประเพณีทำบุญเดือนสิบ หรืองานเดือน ๑๐ เป็นประเพณีประจำท้องถิ่นของชาวภาคใต้ ที่ถือปฏิบัติกันมายาวนานตั้งแต่โบราณ มีขึ้นในช่วงกลางเดือนสิบไทย ประมาณเดือนกันยายน ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ – วันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ของทุกปี หรือเรียกกันเป็นภาษาถิ่นว่า “วันรับ-ส่งตายาย” ซึ่งถือเป็นประเพณีที่สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวและท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี
“วันรับตายาย” จะตรงกับแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ ส่วน “วันส่งตายาย” จะตรงกับแรม ๑๕ ค่ำเดือน ๑๐ โดยวันนี้ชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานีไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ก็จะเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อมาแสดงถึงกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว รวมทั้งยังทำให้ญาติพี่น้องได้พบปะสังสรรค์กันด้วย
พิธีกรรมในประเพณีทำบุญเดือนสิบ จะมีการทำบุญตักบาตรในตอนเช้า นำอาหารถวายพระ แล้วยังอาหารอีกส่วนหนึ่งไปวางไว้บนร้านที่เรียกกันว่า “ร้านเปรต” ซึ่งสร้างแบบยกพื้นขึ้นมากลางลานวัด เพื่อให้ชาวบ้านและเด็ก ๆ เข้าแย่งอาหารหรือที่เรียกว่าชิงเปรตกัน
ขนมที่นิยมทำกันในเดือนสิบ ได้แก่ ขนมลา ขนมกรุบ ขนมจู้จุน ขนมบ้า ขนมไข่ปลา ยาหนม ขนมพอง ขนมต้ม และผลไม้ต่าง ๆ หลังจากทำบุญกันในตอนเช้าเสร็จพิธีแล้วก็จะมีการบังสกุลบรรพบุรุษเป็นอันเสร็จพิธี
งานวันเงาะโรงเรียน
จังหวัดสุราษฎร์ธานีถือเป็นถิ่นกำเนิดของ “เงาะโรงเรียน” ที่มีทั้งรูปลักษณ์สีสันที่สวยงาม รสชาติดี มีความหวาน กรอบ ล่อนไม่ติดเมล็ด ที่ใคร ๆ ต่างยกย่องให้เป็นเจ้าหญิงแห่งผลไม้ เป็นเงาะพันธุ์ที่ดี่ที่สุดทั้งในประเทศไทย ถือว่าเป็นผลิตผลทางการเกษตรที่ขึ้นชื่อของจังหวัดและเป็นความภูมิใจหนึ่งของชาวสุราษฎร์ธานี จนได้เป็นหนึ่งในคำขวัญประจำจังหวัดที่ว่า “เมืองร้อยเกาะ เงาะอร่อย หอยใหญ่ ไข่แดง แหล่งธรรมะ” งานวันเงาะโรงเรียน หรือที่คนท้องถิ่นเรียกสั้น ๆ ว่า “งานเงาะ”
งานวันเงาะโรงเรียน จะจัดขึ้นประมาณกลางเดือนกรกฎาคม-ต้นเดือนสิงหาคมของทุกปี ที่อำเภอบ้านนาสาร โดยทางจังหวัดได้จัดงานเพื่อนำผลิตผลเงาะโรงเรียนและผลิตผลทางการเกษตรอื่น ๆ มาจัดแสดงและจำหน่ายแก่ผู้สนใจ นอกเหนือจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมและนิทรรศการทางการเกษตร การแข่งขันลิงขึ้นมะพร้าว การประกวดนกเขาใหญ่ การแข่งขันจักรยานสามล้อ การประกวดธิดาเงาะ การประกวดรถประดับด้วยผลเงาะและผลไม้ที่มีคุณภาพของทางจังหวัดอีกหลากหลายชนิด
งานเทศกาลกินหอยนางรมฟรี
ในท่อนหนึ่งของของคำขวัญประจำจังหวัดที่ว่า “หอยใหญ่” นั้นมีที่มาจากหอยนางรม ซึ่งเป็นอาหารทะเลที่ขึ้นชื่อของอำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยจะมีความแตกต่างจากหอยนางรมที่อื่น คือมีรสชาติหวานและขนาดใหญ่เป็นพิเศษ งานเทศกาลกินหอยนางรมฟรี จะจัดขึ้นประมาณต้นเดือนมีนาคมของทุกปีในตัวอำเภอกาญจนดิษฐ์ โดยมีหอยนางรมขนาด Big Size ให้กินฟรี และยังมีสินค้าโอท็อปรวมไปถึงการออกร้านของร้านอาหารอีกมากมาย พร้อมทั้งการแสดงของวงดนตรีและการแสดงของนักเรียนประจำทุกค่ำคืนด้วย
กีฬาชนควาย
กีฬาชนควาย เป็นกีฬาประเภทหนึ่งที่ขึ้นชื่อของจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเฉพาะในท้องที่อำเภอเกาะสมุยเป็นที่นิยมกันมาก มีลักษณะคล้ายกับกีฬาชนวัวของจังหวัดสงขลา การชนควายเริ่มมีขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด ทราบแต่ว่าในสมัยก่อน ในที่เกาะสมุยขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช ที่นี่มีควายมากกว่าสัตว์เลี้ยงชนิดอื่น ๆ เมื่อเป็นเช่นนี้การที่ชาวบ้านเห็นควายชนกัน ขวิดกัน จึงน่าจะเป็นต้นกำนิดของการนำควายมาชนกัน และมีการนำมาเลี้ยงและฝึกจนเกิดเป็นกีฬาชนควายอย่างเช่นปัจจุบัน
การเลี้ยงควายชน จะต้องเลี้ยงดูอย่างพิถีพิกันเช่นเดียวกับการเลี้ยงวัวชน ควายต้องได้ออกกำลังสม่ำเสมอ ได้กินอาหารที่มีประโยชน์ และจะต้องได้มีโอกาสฝึกชนในบางครั้ง นอกจากนี้จะต้องระมัดระวังไม่ให้ใครเข้าใกล้ โดยเฉพาะฝ่ายตรงข้ามในระยะเวลาใกล้ ๆ จะถึงเวลาที่จะชน เพราะอาจจะมีผู้วางยาทำให้เสียควายได้ ก่อนการชนจะมีการเปรียบคู่ชน โดยเจ้าของควายทั้งสองจะต้องไปดูควายของฝ่ายตรงข้าม หากไม่ได้เปรียบหรือเสียเปรียบกันมากก็จะยินยอมให้ชนกันได้
ในสมัยก่อน การชนควายจะชนกันหลังจากที่เก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว สนามชนควายก็คือนาข้าวนั่นเอง ส่วนใหญ่จะนัดชนกันในโอกาสงานมงคล หรือมีงานเทศกาลต่าง ๆ เช่นวันขึ้นปีใหม่หรือวันสงกรานต์ งานประจำปีของวัดต่าง ๆ แต่ในปัจจุบันการชนควายในสนามทุ่งนาหมดไป เนื่องจากมีผู้เปิดบ่อนชนควายขึ้นซึ่งชนกันได้ทุกฤดูกาลเมื่อใกล้ถึงวันจะชน การดูแลรักษาควายจะต้องพิถีพิถันมากยิ่งขึ้น เจ้าชองต้องนำควายไปเลี้ยงดูใกล้ ๆ กับสนาม เมื่อถึงเวลาชนจะมีหมอไสยศาสตร์ของแต่ละฝ่ายทำพิธีกันอย่างเอาจริงเอาจัง พิธีจะหมดสิ้นลงเมื่อปล่อยควายเข้าชนกันแล้ว การชนจะยุติลงเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแพ้วิ่งหนีออกจากสนาม
ความเชื่อเกี่ยวกับควายชนก็เหมือน ๆ กับวัวชน คือเชื่อเรื่องลักษณะของควายที่มีลักษณะต้องตามตำราว่าจะได้เปรียบควายคู่ชน ที่มีลักษณะด้อยกว่า และควายที่มีลักษณะดีจะนำความเป็นศิริมงคลมาสู่ผู้เลี้ยง นอกจากนี้ยังมีความเชื่ออื่น ๆ อีกมาก การชนควายมีการชนกันโดยทั่วไปในอำเภอของจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่มีการทำนา แต่ที่มีชนกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันก็เฉพาะที่อำเภอเกาะสมุยเท่านั้น
สถานที่ท่องเที่ยว จังหวัดสุราษฎร์ธานี
สุราษฎร์ธานีเป็นจังหวัดใหญ่ที่มีสถานที่ท่องเที่ยวที่หลากหลาย ทั้งสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติอย่างทะเล เกาะแก่งต่าง ๆ ปากแม่น้ำ อุทยานแห่งชาติ ภูเขา ถ้ำ น้ำตก เขื่อน รวมทั้งสถานที่ท่องเที่ยงเชิงศาสนาและศิลปวัฒนธรรม ในที่นี้ขอแนะนำข้อมูลเบื้องต้นของสถานที่ท่องเที่ยวระดับ 5 ดาว ที่เป็นที่รู้จักกันในระดับโลกกัน ดังนี้
เกาะสมุย
เกาะสมุย เป็น 1 ใน 2 อำเภอของจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่อยู่ในทะเลอ่าวไทย เฉพาะตัวเกาะสมุยเองมีพื้นที่ประมาณ 228 ตารางกิโลเมตร เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสามของประเทศไทยรองจากเกาะภูเก็ตและเกาะช้าง โดยพื้นที่ประมาณ 1 ใน 3 ของเกาะเป็นที่ราบและชายหาด ส่วนพื้นที่ที่เหลือเป็นภูเขา เกาะสมุยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งทางฝั่งทะเลอ่าวไทยที่มีชื่อเสียงทั่วโลก ด้วยความงดงามของธรรมชาติ น้ำทะเลสวยใส หาดทรายขาวละเอียดทอดขนานไปกับทิวมะพร้าวริมชายหาด จึงได้รับการขนานนามว่าเป็นสวรรค์กลางอ่าวไทย มีชายหาดสวยงามที่มีชื่อเสียงอยู่หลายแห่ง เช่น หาดเฉวง ซึ่งเป็นเป็นชายหาดที่ยาวและใหญ่ที่สุด หรือจะเป็นหาดตลิ่งงาม ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของเกาะที่ขึ้นชื่อในเรื่องของพระอาทิตย์ตกที่สวยที่สุด รวมทั้งหาดละไม หาดที่ใหญ่อันดับสองรองจากหาดเฉวง มีชื่อเสียงในเรื่องความสวยงามของความโค้งของอ่าวและทิวมะพร้าวที่เป็นแนวยาวริมชายหาด
ทั้งนี้เกาะสมุยยังมีหมู่เกาะใหญ่น้อยเรียงรายโดยรอบอีกประมาณ 53 เกาะ ซึ่งก็คือ “อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง”
เกาะพะงัน
เกาะพะงัน (เดิมสะกดว่า “พงัน”) อีก 1 ในเกาะของจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่มีสถานะเป็นอำเภอ ห่างจากเกาะสมุยไปทางทิศเหนือประมาณ 15 กิโลเมตร มีพื้นที่เกาะ มีพื้นที่ 168 ตารางกิโลเมตร เป็นเกาะที่มีชื่อเสียงมากกับชาวต่างชาติในด้านการปาร์ตี้ เพราะเป็นสถานที่จัดงานปาร์ตี้ขนาดใหญ่ติดอันดับโลก วึ่งก็คือ “ฟูลมูนปาร์ตี้ – Full Moon Party” เกาะพะงันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ มีชายหาดขาว น้ำทะเลใส ทัศนียภาพงดงาม มีชายหาดที่ขึ้นชื่อหลายแห่ง เช่น
- หาดริ้น อยู่ทางด้านตะวันตกของเกาะ ชายหาดที่สวยที่สุดบนและเป็นสถานที่จัด Full Moon Party มีชายหาดยาวประมาณ 1,000 เมตร แบ่งเป็น 2 หาดย่อย คือหาดริ้นนอกและหาดริ้นใน
- อ่าวโฉลกหลำ อยู่ทางด้านทิศเหนือของเกาะ มีชายหาดโค้งเป็นรูปครึ่งวงกลม ความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นแหล่งอาหารทะเลและสถานที่เล่นวินต์เซิร์ฟ-ไคต์เซิร์ฟ
- หาดยาว ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของเกาะ มีชายหาดที่ยาวเป็นระยะทาง 1 กิโลเมตร สิ่งที่ขึ้นชื่อที่สุดของหาดยาวคือการชมพระอาทิตย์ตกดิน ด้วยในมุมที่สวยงามที่สุดของเกาะ
- หาดแม่หาด อยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะ มีชายหาดที่ค่อนข้างยาว ทรายขาวสวย เป็นหาดที่เหมาะสำหรับการดำน้ำและสามารถชมวิวพระอาทิตย์ตกดินได้เช่นกัน
- หาดสลัด เป็นที่หลบซ่อนของโจรสลัดในสมัยก่อน เป็นหาดที่สวยงามและเงียบสงบ เหมาะสำหรับการว่ายน้ำในช่วงพฤศจิกายนถึงเมษายน มีแนวปะการังห่างจากฝั่งประมาณ 150 เมตร ทำให้เหมาะสำหรับการดำน้ำตื้นได้
- อ่าวท้องนายปานใหญ่ เป็นหาดที่มีชื่อเสียงที่สุดด้านตะวันออก หาดทรายสีขาวละเอียด ล้อมรอบด้วยภูเขาที่มีป่าเขตร้อนปกคลุม พร้อมด้วยสวนมะพร้าว ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถว่ายน้ำได้ตลอดทั้งปี นอกจากนี้แล้วหาดท้องนายปานใหญ่มีหินผาให้ปีนด้วย
อุทยานแห่งชาติเขาสก
อุทยานแห่งชาติเขาสก มีพื้นที่ครอบคลุมอำเภอพนมและอำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นผืนป่าดิบชื้นผืนใหญ่ที่สุด มีเนื้อที่ประมาณ 741.01 ตารางกิโลเมตร หรือ 463,131.43 ไร่ มีพื้นที่ติดกับป่าที่อยู่ในความดูแลของหน่วยงานอื่น เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองยัน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองนาคา อุทยานแห่งชาติศรีพังงา อุทยานแห่งชาติแก่งกรุงและอุทยานแห่งชาติคลองพนม ซึ่งทั้งหมดที่อยู่ในเทือกเขาภูเก็ตนี้ เป็นผืนป่าดิบชื้นที่มีความสำคัญและมีขนาดใหญ่ที่สุดของภาคใต้ รวมกันทั้งสิ้นกว่า 2,296,879.5 ไร่ ซึ่งเรียกรวมกันว่าเป็น “ขุนเขาแห่งป่าฝน” ของภาคใต้
อุทยานแห่งชาติเขาสก อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณมากมายนานาชนิด เช่น บัวผุด ปาล์มเจ้าเมืองถลางหรือปาล์มหลังเขา ปาล์มพระราหู ฯลฯ และยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด โดยเฉพาะพบสัตว์ป่าสงวนถึง 4 ชนิด คือ สมเสร็จ เก้งหม้อ แมวลายหินอ่อน และเลียงผา นอกจากนี้อุทยานแห่งชาติเขาสกยังมีทิวทัศน์และธรรมชาติที่แสนงดงาม โดยเฉพาะเทือกเขาหินปูนที่ตั้งตระหง่านเหนือผืนน้ำอ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภา
เขื่อนเชี่ยวหลาน
เขื่อนเชี่ยวหลาน หรือ เขื่อนรัชชประภา อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสก เป็นเขื่อนอเนกประสงค์ที่สร้างขึ้นเพื่อสร้างพลังงานไฟฟ้าเป็นหลัก ทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีทัศนียภาพอันงดงาม บรรยากาศเงียบสงบ น้ำใสสีเขียวมรกต รายล้อมด้วยภูเขาหินปูนยอดแหลม แนวหน้าผาสูงชัน มีธรรมชาติที่สวยงามเหมาะสำหรับการพักผ่อนเป็นอย่างมาก ภายในบริเวณเขื่อนเชี่ยวหลานมีแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่ออีกหลายแห่ง เช่น เขาสามเกลอ เป็นเกาะหินปูนกลางน้ำตั้งตระหง่านเรียงรายกลางท้องน้ำสีมรกต ดูแปลกตาแต่สวยงามจนได้ชื่อว่าเป็น “กุ้ยหลินเมืองไทย” มีถ้ำสวย ๆ อย่างถ้ำน้ำทะลุ ถ้ำปะการังและถ้ำประกายเพชร ภายในถ้ำทั้งหมดมีหินงอกหินย้อย รวมทั้งโขดหินที่เกิดขึ้นมาจากการกัดเซาะของสายน้ำจนมีรูปร่างที่แปลกตา มีจุดชมวิวไกรสร หรือ Viewpoint ที่นักท่องเที่ยวจะสามารถสัมผัสความงามของทิวทัศน์เหนืออ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภาได้อย่างกว้างไกล นอกจากนี้แล้วยังมีแพเขื่อนเชี่ยวหลานสวย ๆ จำนวนเกือบ 20 แพ ไว้บริการนักท่องเที่ยวจำนวนมากมายหลายแห่ง ทั้งแพเอกชนและแพอุทยานเขื่อนเชี่ยวหลาน รวมไปถึงที่พักเขื่อนเชี่ยวหลานที่ไม่ได้ตั้งอยู่ในอ่างเก็บน้ำของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเขื่อนรัชชประภา
Note : รูปภาพประกอบจากแหล่งอื่น ๆ
จังหวัดสุราษฎร์ธานี ยังมีอะไรดี ๆ อีกมากมายรอให้คุณได้มาสัมผัส ทั้งความเป็นมิตรไมตรีของคนในท้องถิ่นและความงดงามของสถานที่ต่าง ๆ หากอยากรู้ว่าเมืองสุราษฎร์ฯ น่าเที่ยว น่าค้นหาและมีดีอย่างไร หาโอกาสดี ๆ มาสัมผัสด้วยตัวเองกันสักครั้งครับ
Related Posts
โดยปกติทั่วไปแล้ว การเดินทางมาพักผ่อนท่องเที่ยวหรือ ทัวร์เขื่อนเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี นั้นจะมีแพคเกจทัวร์หรือโปรแกรมทัวร์หลัก ๆ อยู่ประมาณ 3 แบบด้วยกัน คือ แพคเกจทัวร์เขื่อนเชี่ยวหลาน 1 วัน (เที่ยวเขื่อนเชี่ยวหลานไปเช้าเย็นกลับ หรือ วันเดย์ทริป One Day Trip) ซึ่งไม่ได้มีการนอนค้างคืนภายในแพที่พักใด ๆ ภายในอ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภา ส่วนแพคเกจทัวร์อีกสองแบบจะมีการนอนพักค้างคืนภายในที่พักเขื่อนเขี่ยวหลานต่าง ๆ จากผู้ให้บริการหลายรายตามความสนใจของนักท่องเที่ยว ทั้งแพคเกจทัวร์เขื่อนเชี่ยวหลาน 2 วัน 1 คืน และ แพคเกจทัวร์เขื่อนเชี่ยวหลาน 3 วัน 2 คืน
แพคีรีวาริน เป็นหนึ่งในที่พักเขื่อนเชี่ยวหลานของเอกชน ตั้งอยู่ไกลออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือจากท่าเรือท่องเที่ยวเขื่อนเชี่ยวหลานประมาณ 22 กิโลเมตร (ระยะทางแผนที่ทางอากาศ) ณ บริเวณคลองหวาง ภายในอ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภา จังหวัดสุราษฎร์ธานี หากแต่เป็นระยะการล่องเรือจริงจะอยู่ที่ประมาณ 25 กิโลเมตร ใช้เวลานั่งเรือนำเที่ยวประมาณ 1 ชั่วโมง เดินทางล่องเรือผ่านภูมิประเทศและทัศนียภาพที่แปลกตา ผืนน้ำที่เขียวใสสวยงาม หน้าผาสูงชันบนภูเขาหินปูนสูงสลับซับซ้อนมากมายตลอดการเดินทาง โดยเฉพาะปริเวณช่องแคบเขากาเลาะซึ่งมีลักษณะเป็นภูเขาหินปูนที่มียอดแหลมระเกะระกะ มีแนวหน้าผาสูงชันบางแห่งเป็นแท่งสูงขึ้นไปในอากาศคล้ายหอคอยสูงสมกับฉายา "กุ้ยหลินเมืองไทย" ระหว่างการเดินทางไปที่แพ ในเส้นทางการล่องเรือนำเที่ยวจะแล่นเรือผ่านหรือเฉียดแพเขื่อนเชี่ยวหลานต่าง ๆ หลายแพ เช่นแพนางไพรที่บริเวณอ่าวสมเด็จ หลังจากผ่านจากจุดนี้ไปอีกสักพักใหญ่ ๆ ก็จะเจอแพสมายเลย์ แพภูผาวารี และถึงแพคีรีวาริน หากถัดไปอีกนิดนึง ก็จะถึงแพ 500 ไร่ ซึ่งเป็น 4 แพที่พักของเอกชนในคลองหวางนั่นเอง
การที่เราจะไปเที่ยวที่ไหนสักแห่ง การหาข้อมูลเบื้องต้นเพื่อจะได้วางแผนเที่ยวอย่างมีความสุขนั้นเป็นสิ่งจำเป็น การมา เที่ยวเขื่อนเชี่ยวหลาน ก็เช่นกัน มีข้อมูลเบื้องต้นหลายอย่างที่ควรจะรู้ไว้ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเรื่องของที่พัก ราคาแพคเกจทัวร์แบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น One Day Trip หรือแพคเกจพักค้างคืน ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ภายในเขื่อน หรือคำถาม "เที่ยวเขื่อนเชี่ยวหลานช่วงไหนดีหรือเดือนไหนดี?" รวมทั้งข้อมูลการเดินทาง เป็นต้น ทำไมใคร ๆ ถึงอยากมาเที่ยวเขื่อนเชี่ยวหลาน? เขื่อนเชี่ยวหลาน หรือ เขื่อนรัชชประภา เกิดจากการสร้างเขื่อนเมื่อประมาณ 30 กว่าปีที่แล้ว โดยตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสก พื้นที่เดิมก่อนการก่อสร้างเขื่อนเคยเป็นชุมชนมาก่อน เป็นพื้นที่ที่อยู่ในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี ใกล้กับรอยต่อเขตจังหวัดพังงาและระนอง พื้นที่ที่มีการสร้างเขื่อนนี้ มีลักษณะภูเขาโดยส่วนใหญ่เป็นภูเขาหินปูน มีหน้าผาที่สูงชัน ฉะนั้นเมื่อมีการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำคลองแสงที่บ้านเชี่ยวหลาน ภูเขามากมายที่น้ำท่วมไม่ถึงจึงมีลักษณะเป็นเกาะแก่ง เป็นหน้าผาหินปูนที่โผล่ขึ้นมาเหนือผิวน้ำมากมาย ซึ่งมีลักษณะต่างไปจากเขื่อนอื่นที่เป็นเขื่อนดิน ภาพหน้าผาหินปูนและภูเขาที่สูงชันเหนือผืนน้ำสีเขียวใสแปลกตา รวมทั้งไอหมอกที่ลอยกระทบกับผิวน้ำและภูเขาในยามเช้าที่สวยงาม (*หรืออาจจะมีหมอกทั้งวัน หากมีฝนและอากาศค่อนข้างเย็น) ดึงดูดใจและสร้างความประทับใจแก่นักท่องเที่ยว ให้เดินทางมาเที่ยวที่นี่กันอย่างไม่ขาดสาย นี่คือความสวยงามของทัศนียภาพจากธรรมชาติที่แปลกไปจากแหล่งท่องเที่ยวอื่น จนเป็นที่มาของฉายา "กุ้ยหลินเมืองไทย" และนี่ก็เป็นที่มาของเหตุผลว่าทำไมใคร ๆ ก็อยากมาเที่ยวเขื่อนเชี่ยวหลานนั่นเอง
หน้าแรก » บทความ » สุราษฎร์ธานี » ข้อมูลจังหวัดสุราษฎร์ธานี